วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โรงงานหลวงสำเร็จรูปทั้ง 3 แห่ง

โรงงาน

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1



ตั้งอยู่ที่ บ้านยาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

   ก่อตั้งขึ้นราวปีพุทธศักราช 2515  และเป็นโรงงานหลวงฯ แห่งแรกที่ก่อตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและทุกข์ยากของราษฎร การถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา โดยในระยะแรกของการดำเนินการ โรงงานมีลักษณะเป็นเพียงรถยนต์ดัดแปลงให้เป็นโรงงานเคลื่อนที่เพื่อออกรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ต่อมาได้ใช้อาคารของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเป็นโรงงานชั่วคราว หลังจากนั้น จึงได้มีการสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้นในบริเวณที่เป็นตลาดร่มเกล้าและสหกรณ์แม่งอนเดิม จนกระทั่งการก่อสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแล้วเสร็จ คณะผู้บริหารจึงได้แบ่งบุคลากรออกเป็น 3 ฝ่ายหลัก คือ ผู้จัดการที่มีความรู้เรื่องการถนอมอาหาร เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพ การดำเนินงานจะมีลักษณะเป็นแบบการพัฒนาชนบท ซึ่งจากประวัติความเป็นมา มักจะเริ่มต้นด้วยการพัฒนาท้องที่ มีการจัดตั้งสถานีอนามัยชั้นสองและศูนย์โภชนาการเด็ก เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนควบคู่ไปด้วย ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนแนวคิดด้านการช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


   ในปีพุทธศักราช 2515 และ 2549 โรงงานหลวง
ได้ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ถึง 2 ครั้ง  ครั้งแรกได้เกิดอุทกภัยขึ้นเมื่อวันที่ 13–15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515  และในครั้งที่สองได้เกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่มขึ้นเมื่อวันที่ 8–11 ตุลาคม พ.ศ.2549   ซึ่งในครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ให้กับโรงงานหลวงฯ และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งประชาชน จำนวน 15 หมู่บ้าน ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก เกิดสภาวะขาดแคลนอาหาร และน้ำดื่ม โรงงานหลวงฯ ที่1 ซึ่งเป็นโรงงานเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย จึงได้ผลิต “น้ำดื่มตราดอยคำ” ขึ้น ออกแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ประสบภัยในครั้งนั้น และเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายภายใต้ตราสัญลักษณ์ “ดอยคำ” จวบจนถึงปัจจุบัน


   ภายหลังอุทกภัยในครั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จึงวางแนวทางการดูแลฟื้นฟูโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) เป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านงานการผลิตและการฟื้นฟูโรงงาน ด้านการเรียนรู้ ด้านธุรกิจสนับสนุน และงานด้านงานพิพิธภัณฑ์ โดยเริ่มเปิดดำเนินการผลิตอีกครั้งในเดือน พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2552
   ปัจจุบัน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง)  เป็นโรงงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิต ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” โดยมีสายการผลิตสำคัญ 6 สายการผลิต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระป๋อง ขวดแก้ว อบแห้ง น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์แช่แข็ง และน้ำผลไม้เข้มข้น


โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2


ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย

ก่อตั้งขึ้นราวปีพุทธศักราช 2517 โดยมี ศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน ในนามของสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้อำนวยการ ดำเนินการเช่นเดียวกันกับที่โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการเพาะปลูกพืชเมืองหนาว


   โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 2 (แม่จัน) ได้เปิดทำการทดลองผลิตข้าวโพดฝักอ่อน นมถั่วเหลืองผง เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2517 ซึ่งได้รับพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ 100,000 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนของ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูป และได้ทูลน้อมเกล้าฯ ถวายโรงงาน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519  ซึ่งนอกจากเงินทุนส่วนนี้แล้ว ยังมีเงินทุนสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ บริษัทต่างประเทศ และรัฐบาลต่างประเทศ โดยเสด็จพระราชกุศลถวายเงิน ที่ดิน เครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งปลูกสร้างด้วย



   นอกจากนี้ในช่วงแรกของการดำเนินการ ยังมีการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตร เพื่อจัดจำหน่ายปุ๋ย สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภคทางการเกษตรแก่เกษตรกรด้วย เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้สินค้าที่มีราคาถูก และยังได้มีการจัดตั้ง ศูนย์โภชนาการเด็กเพื่อให้เด็กได้รับโภชนาการที่ถูกต้องและเติบโตเป็นประชาชนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและสติปัญญา และพระราชทานสถานีอนามัยชั้นสอง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถเข้ามารับคำแนะนำในด้านสุขภาพอนามัยให้รู้จักป้องกันและดูแลรักษาตนเองในเรื่องของความเจ็บป่วยและความปลอดภัย
   โรงงานหลวงฯ ที่ 2 จะรับซื้อผลผลิตจากอำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน  และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมีผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับโรงงานแห่งนี้ เนื่องจากว่ามีเครื่องจักรผลิตแป้งถั่วเหลืองไขมันเต็มรูปแบบ(FULL FAT SOY FLOUR) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
   “ปัจจุบัน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) เป็นโรงงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิต ผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ”โดยมีสายการผลิตสำคัญ เช่น น้ำผลไม้พร้อมดื่ม ผลไม้แช่แข็ง และ แป้งถั่วเหลือง”




โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3


ตั้งอยู่ที่ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

   ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2525 โดยถือกำเนิดขึ้น ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และเสด็จไปยังหมู่บ้านนางอย  โพนปลาโหลกิ่งอำเภอเต่างอย เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2523 ทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของราษฎร จึงมีพระราชดำริให้หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และศาสตราจารย์ อมร ภูมิรัตน เข้าดำเนินการ โดยมีพระราชดำริเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา ดังนี้

1.ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
2.ส่งเสริมให้มีรายได้
3.หลังจากพัฒนาแล้ว ชาวบ้านสามารถรักษาสภาพความเป็นอยู่และพัฒนาต่อไปได้ด้วยตนเอง


   เมื่อเริ่มโครงการพัฒนาได้สำรวจพบว่าประชาชนมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอย่างมาก ขาดแคลนอาหารและน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคอีกทั้งพื้นที่บริเวณดังกล่าวยังถูกรบกวนโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รัฐบาลไทยจึงได้จัดให้เป็นพื้นที่สีแดงและยังพบหมู่บ้านที่ยากจนเช่นกันอีกจำนวน3หมู่บ้านคือหมู่บ้านห้วยหวดหมู่บ้านกวนบุ่นและหมู่บ้านโคกกลางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ รับหมู่บ้านดังกล่าวให้อยู่ในโครงการเพิ่มเติมจากหมู่บ้านนางอย โพนปลาโหล
   จากโครงการตามพระราชดำริดังกล่าว จึงมีการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปขึ้น โดยนำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) มาเป็นต้นแบบ
   ซึ่งโรงงานหลวงฯแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช2525 ถือเป็นโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปแห่งที่3โดยเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมะเขือเทศเข้มข้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของโรงงานและพัฒนาอาชีพ และเสริมรายได้ของราษฎรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ยั่งยืน  ด้วยการปลูกมะเขือเทศ และส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลทั้งนี้ด้วยสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
   โรงงานหลวงฯที่3(เต่างอย)ถือเป็นโรงงานแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำมูล นำร่องให้เกิดโรงงานแปรรูปผลผลิตมะเขือเทศ และการส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศของภาคเอกชนตามมาอย่างมากมาย รวมเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศถึง ๒๓,๐๐๐ ไร่ในปัจจุบัน จนกระทั่ง มีคำกล่าวเรียกพื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูลว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ”(Tomato Belt)ต่อมาจึงได้มีการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน และแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในด้านการพัฒนาชุมชนที่ดำเนินการควบคู่ไปนั้น ได้มีการสร้างศูนย์โภชนาการเด็ก เพื่อลดสภาพการขาดสารอาหารในเด็ก   การบูรณปฏิสังขรณ์วัด การขุดบ่อน้ำบาดาล การจัดหาถังเก็บน้ำฝน และงานสุขาภิบาลชุมชน ในด้านการพัฒนาอาชีพนั้น  ส่งเสริมให้มีการปลูกมะเขือเทศ ข้าวโพดฝักอ่อน ไผ่ตง และมะละกอ โดยโรงงานหลวงฯ แห่งนี้รับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และได้ขยายตลาดการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย



   ต่อมาในปีพุทธศักราช 2553 เครื่องจักรผลิตหลักของโรงงานหลวงฯ ได้ชำรุดทรุดโทรม ตามอายุการใช้งาน คณะผู้บริหารจึงทูลเกล้าฯ ถวายรายงานแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงมีพระราชดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ทำการปรับปรุงโรงงานหลวงฯแห่งนี้ โดยการปรับปรุงกระบวนการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตอาหารสำเร็จรูปประเภทต่างๆด้วยเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัย ตามมาตรฐานโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูประดับสากลและเริ่มดำเนินการผลิตอีกครั้งในเดือน กุมภาพันธ์ 2555
   “ปัจจุบัน โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย)  เป็นโรงงานหลักที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “ดอยคำ” โดยมีสายการผลิตสำคัญ ได้แก่สายการผลิตมะเขือเทศเข้มข้น ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง และข้าวกล้องบรรจุถุง”


   ยังมีอีกหนึ่งโรงงานหลวงที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงคือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๔ (ละหานทราย) จ.บุรีรัมย์ 




อ้างอิง http://www.doikham.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น